ปฏิรูปพระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐
พ.ร.บ.การประมงขาดประสิทธิภาพในการจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน ก่อนปี ๒๕๐๓ ไทยจับสัตว์น้ำได้ปีละ ๑๕๐,๐๐๐ ตัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึง ๑.๕ ล้านตันในปี ๒๕๑๕ และปี ๒๕๒๐ มีการพัฒนาอวนล้อมจับปลาผิวน้ำปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มเป็น ๒ ล้านตัน และ ๒.๗๕๓ล้านตันในปี ๒๕๓๖ พร้อมกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มขึ้น ทะเลไทยเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ปี ๒๕๐๔ สามารถจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยได้ชั่วโมงละ ๒๙๘ กิโลกรัม ลดลงเหลือเพียงชั่วโมงละ ๒๐ กิโลกรัมในปี ๒๕๓๒ ขณะที่ดร.เชาวลิต วิทยานนท์ ทำการศึกษาในปี ๒๕๔๑ พบว่า จำนวนการจับลดลงเหลือ ๗ กิโลกรัมต่อชั่วโมง นอกจากนี้ปลาที่จับได้เป็นปลาขนาดเล็กและลูกปลาเศรษฐกิจร้อยละ ๔๐ รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมระบุว่า ปริมาณการจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในทะเลไทยไม่ควรเกินปีละ ๑.๔ ล้านตัน แยกเป็นปลาผิวน้ำ ๔๕๐,๐๐๐ ตัน ปลาหน้าดิน ๙๕๐,๐๐๐ ตัน แต่การประมงทะเลไทยจับสัตว์น้ำสูงกว่า ๒.๕ ล้านตันต่อปี การจับสัตว์น้ำทะเลได้ปริมาณมากขึ้นทั้งๆที่ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทยลดลง เกิดจากการใช้วิธีการประมงที่ทำลายทรัพยากรมากขึ้น ตลอดจนการใช้เครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำได้มากชนิดกว่าที่ต้องการ ทำให้เกิดการประมงมวลชีวภาพคือมุ่งกวาดล้างสัตว์น้ำทะเลทุกชนิด อธิบดีกรมประมง นายธำรงค์ ประกอบบุญ ยอบรับว่า ปัจจุบันทะเลไทยจับปลาได้น้อยมาก เพราะว่าเราไม่ได้มีการวางแผนการจัดการประมงมาก่อน และปัญหาอวนลาก อวนรุนละเมิดกฎหมายรุกล้ำเข้ามากวาดจับสัตว์น้ำในเขต ๓,๐๐๐ เมตร และเขตปิดอ่าว โดยที่กรมประมงยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องห้ามทำการประมงในเขต ๓,๐๐๐ เมตรให้เป็นรูปธรรม รายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงปลากระตักโดยใช้แสงไฟประกอบ กล่าวถึง ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและประสิทธิภาพของกฎหมายประมงไว้ว่า * ) คดีความผิดตามกฎหมายประมงเป็นคดีขึ้นศาลแขวงต้องส่งฟ้องภายใน ๔๘ ชั่วโมงทำให้เรือประมงสามารถกลับไปทำการประมงได้อีกอย่างรวดเร็ว * ) เป็นคดีที่ทำผิดในทะเลทำให้การจับกุมและรวบรวมพยานหลักฐานยุ่งยาก จึงจับกุมได้เพียงบางส่วนของผุ้กระทำผิดเท่านั้น* ) ปัญหาเรื่องเขตอำนาจสอบสวน (เนื่องจากเขตการปกครองทางทะเลไม่ชัดเจน เมื่อเกิดการกระทำผิดจึงไม่สามารถระบุได้ว่า อยู่ในเขตของอำเภอ จังหวัดใด) * ) ปัญหาข้อกฎหมาย เรื่องเครื่องมือประมงที่ไม่รวมกับเรือ * ) บทกำหนดโทษเบาทำให้ชาวประมงไม่เกรงกลัวเพราะผลประโยชน์ที่ได้คุ้มค่า* ) ไม่มีการริบเรือหรือเครื่องมือประมง เพราะชาวประมงใช้ช่องว่างทางกฎหมายโดยทำสัญญาเช่าแสดงไว้ในการขอคืนของกลางต่อศาล เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓ (๑) กำหนดให้เป็นดุลยพินิจของศาลในการรับทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ให้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดจะริบไม่ได้พ.ร.บ.การประมง ๒๔๙๐ เริ่มบังคับใช้ช่วงต้นของการพัฒนาการประมงทะเล (ปี ๒๔๙๐ถึง ปี ๒๕๑๕) แต่จากปี ๒๕๑๖ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๒๖ ปีที่การประมงทะเลเริ่มเข้าสู่ยุคของการทำลายตัวเองด้วยการประมงที่ทำลายทรัพยากร และมุ่งกวาดล้างสัตว์น้ำโดยที่การควบคุมและการบังคับใช้ พ.ร.บ.การประมง ๒๔๙๐ ไม่สามารถหยุดยั้งการทำลาย และในหลายกรณีกฎหมายได้เอื้ออำนวยให้การทำลายล้างทวีความรุนแรงมากขึ้น - พ.ร.บ.การประมง ๒๔๙๐ มีช่องว่างที่เปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริต ดังมติคณะรัฐมนตรี ๒๕ มกราคม ๒๕๔๓ เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐ ให้แก้ไขพ.ร.บ.การประมง ๒๔๙๐ โดยเพิ่มบทลงโทษผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายจนทำให้เกิดความ เสียหายแก่ทรัพยากรทางทะเลให้สูงขึ้นใกล้เคียงกับอัตราโทษตามความผิดที่เกิดจากการสร้างความ เสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ และให้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วย การสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เจ้าของเรือหรือเจ้าของเครื่องมือประมงที่ใช้กระทำผิดมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิด และให้ริบเรือประมงหรือเครื่องมือนั้นเสีย โดยไม่ต้องคำนึงว่า จะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อปิดช่องว่างของกฎหมายและป้องกันการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่- พระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของบุคคล
สัตว์น้ำคุ้มครองและใกล้สูญพันธุ์
Monday, December 25, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment